โด่ไม่รู้ล้ม

โด่ไม่รู้ล้ม ชื่อสามัญ Prickly-leaved elephant’s foot

โด่ไม่รู้ล้ม ชื่อวิทยาศาสตร์ Elephantopus scaber L. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)

สมุนไพรโด่ไม่รู้ล้ม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้ไฟนกคุ่ม (เลย), คิงไฟนกคุ่ม (ชัยภูมิ), หนาดมีแคลน (สุราษฎร์ธานี), ตะชีโกวะ ติ๊ซิเควาะด๊ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), โน๊ะกะชอย่อตะ กาว่ะ เนาะดากวอะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), เคยโป้ หนาดผา หญ้าปราบ หญ้าไก่นกคุ่ม หญ้าไฟนกคุ้ม หญ้าสามสิบสองหาบ (ภาคเหนือ), ก้อมทะ เกดสะดุด ยาอัดลม (ลั้วะ), จ่อเก๋ (ม้ง) เป็นต้น

สรรพคุณของโด่ไม่รู้ล้ม

  1. ว่านโด่ไม่รู้ล้ม สรรพคุณใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง ด้วยการใช้รากต้มเป็นน้ำดื่ม หรือใช้ดองเหล้าดื่มผสมเข้ากับสมุนไพรกำลังเสือโคร่งและม้ากระทืบโรง หรือจะใช้ใบต้มกับน้ำดื่มก็ได้ และนอกจากนี้ยังใช้ทั้งต้นของโด่ไม่รู้ล้ม นำมาตากแห้งแล้วหั่นเป็นฝอยใช้ผสมเข้ายาร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ คือ ต้นนางพญาเสือโคร่ง ม้ากระทืบโรง ลำต้นฮ่อสะพายควาย สะค้าน ตานเหลือง มะตันขอ เปลือกลำ หัวยาข้าวเย็น แก่นฝาง ไม้มะดูก และข้าวหลามดง นำมาต้มเป็นน้ำดื่มเป็นยาบำรุงก็ได้เหมือนกัน (ราก, ใบ, ทั้งต้น)
  2. ช่วยบำรุงหัวใจ (ทั้งต้น)
  3. ลำต้นและใบใช้เป็นยาบำรุงเลือด เหมาะสำหรับสตรีที่มีประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ (ต้นและใบ)
  4. ช่วยทำให้อยากอาหาร (ต้นและใบ)
  5. ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย (ใบ)
  6. ช่วยแก้กษัย (ทั้งต้น)
  7. ทั้งต้นมีรสกร่อนจืดและขื่นเล็กน้อย ใช้รับประทานช่วยทำให้เกิดกษัยแต่มีกำลัง (ทั้งต้น)
  8. ช่วยแก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ ด้วยการใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก)
  9. ช่วยขับเหงื่อ (ทั้งต้น)
  10. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำรับประทาน ช่วยแก้ไข้จับสั่นหรือไข้มาลาเรียได้ (ทั้งต้น)
  11. ช่วยแก้ไข้ ด้วยการใช้รากโด่ไม่รู้ล้มนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะใช้ราก ลำต้น ใบ และผล ต้มเป็นน้ำดื่มก็ได้เช่นกัน (ราก, ลำต้น, ใบ, ผล, ทั้งต้น)
  12. ใช้เป็นยาแก้ไอ ด้วยการใช้ต้นหรือรากต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไอ (ราก, ต้น, ใบ, ทั้งต้น)
  13. รากโด่ไม่รู้ล้มช่วยแก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้หวัด แก้อาการไอเรื้อรัง (ราก)
  14. รากใช้ต้มดื่มแก้อาเจียนได้ (ราก)
  15. ทั้งต้นใช้ต้มเป็นน้ำดื่มช่วยแก้อาการข้าวติดคอหรือกลืนอาหารฝืดคอได้ (ทั้งต้น)
  16. ใช้เป็นยาแก้วัณโรค (ทั้งต้น)
  17. ช่วยรักษาโรคหลอดลมอักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  18. ช่วยแก้อาการตาแดง (ทั้งต้น)
  19. ช่วยแก้อาการเจ็บคอ ต่อมทอนซิลอักเสบ ด้วยการใช้ต้นแห้งประมาณ 6 กรัม นำมาแช่ในน้ำร้อนขนาด 300 cc. (เท่าขวดแม่โขง) ประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วรินเอาน้ำมาดื่มจะช่วยบรรเทาอาการได้ หรือจะใช้ต้นแห้งนำมาบดให้เป็นผงแล้วปั้นเป็นเม็ดไว้รับประทานก็ได้เช่นกัน (ต้นแห้ง, ทั้งต้น)
  20. ช่วยรักษาแผลในช่องปาก ด้วยการใช้ต้นแห้งประมาณ 30 กรัม นำมาต้มดื่มวันละครั้ง (ต้นแห้ง, ทั้งต้น)
  21. รากใช้ต้มกับน้ำนำมาอมช่วยแก้อาการปวดฟันได้ หรือใช้รากนำมาตำผสมกับพริกไทย (ราก)
  22. ช่วยห้ามเลือดกำเดาไหล เลือดกำเดาไหลง่าย ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30-60 กรัม (ถ้าแห้งใช้ 10-15 กรัม) นำมาต้มกับเนื้อหมูแดงพอประมาณแล้วใช้รับประทานติดต่อกัน 3-4 วัน (ต้นสด, ทั้งต้น)
  23. รากและใบใช้ต้มเป็นยาดื่มช่วยบรรเทาอาการเจ็บหน้าอก (รากและใบ)
  24. ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ราก, ทั้งต้น)
  25. รากและใบช่วยแก้อาการท้องร่วง (รากและใบ)
  26. ช่วยแก้บิด (รากและใบ, ทั้งต้น)
  27. ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร (รากและใบ, ทั้งต้น)
  28. ช่วยแก้ท้องมานหรือภาวะที่มีน้ำในช่องท้องมากเกินปกติ ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 60 กรัม นำมาต้มกับดื่มเช้าเย็น หรือใช้ตุ๋นกับเนื้อแล้วนำมารับประทานก็ได้ (ต้นสด)
  29. ช่วยขับไส้เดือน พยาธิตัวกลม (ราก, ใบ, ทั้งต้น)
  30. ช่วยขับระดูขาวของสตรี (ราก,ทั้งต้น)
  31. รากมีสรรพคุณเป็นยาบีบมดลูก (ราก)
  32. รากใช้เป็นยาคุมกำเนิดสำหรับสตรีหลังคลอดบุตรใหม่ ๆ (ราก, ใบ)
  33. รากและใบใช้ต้มอาบน้ำหลังคลอดของสตรี (รากและใบ)
  34. ช่วยแก้นิ่ว ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 90 กรัม ต้มรวมกับเนื้อหมู 120 กรัม พร้อมใส่เกลือเล็กน้อย ต้มแล้วเคี่ยวกรองเอาแต่น้ำมาดื่ม เอากากออก แบ่งรับประทานเป็น 4 ครั้ง หรือจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มแก้อาการก็ได้เช่นกัน (ราก, ต้น, ทั้งต้น)
  35. ทั้งต้นมีรสกร่อยและขื่น ใช้เป็นยาช่วยขับปัสสาวะ (ราก, ใบ, ทั้งต้น)
  36. ช่วยแก้ปัสสาวะพิการ (ทั้งต้น)
  37. ช่วยแก้อาการขัดเบา (อาการเริ่มต้นของทางเดินปัสสาวะอักเสบ) ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 15-30 กรัม ใช้ต้มกับน้ำดื่ม (ต้นสด)
  38. ช่วยรักษาตับและไตอักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  39. ช่วยแก้กามโรค รักษาโรคบุรุษ (ราก, ใบ, ทั้งต้น)
  40. รากและใบช่วยแก้กามโรคในสตรี โดยใช้แบบสดหรือแห้งประมาณ 2 กำมือนำมาต้มเป็นน้ำดื่มแก้อาการ (รากและใบ)
  41. ช่วยบำรุงกำหนัด บำรุงสมรรถภาพทางเพศ ด้วยการใช้รากต้มกับน้ำดื่ม (ราก, ใบ, ทั้งต้น)
  42. ช่วยขับน้ำเหลืองเสียออกจากร่างกาย (ทั้งต้น)
  43. ช่วยแก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30 กรัม ต้มเป็นน้ำดื่ม (ต้นสด)
  44. ช่วยแก้ดีซ่าน ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 120-240 กรัม นำมาต้มกับเนื้อหมูแล้วใช้รับประทานติดต่อกัน 4-5 วัน (ต้นสด, ทั้งต้น)
  45. ช่วยแก้อาการบวมน้ำ (ทั้งต้น)
  46. ช่วยแก้อาการอักเสบต่าง ๆ เช่น หลอดลมอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ลำไส้อักเสบ ฯลฯ (ราก, ทั้งต้น)
  47. ช่วยรักษาฝีบวม ฝีมีหนอง ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำผสมกับเกลือเล็กน้อย และละลายน้ำส้มสายชูพอข้น ๆ แล้วนำมาใช้พอกบริเวณที่เป็นฝี (ราก, ต้นสด, ทั้งต้น)
  48. ช่วยรักษาฝีฝักบัว ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 25 กรัม ใส่เหล้า 1 ขวด และน้ำ 1 ขวด แล้วนำมาต้มดื่ม และใช้ต้นสดต้มกับน้ำเอาน้ำมาชะล้างบริเวณหัวฝีที่แตก (ต้นสด)
  49. ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย แผลงูกัด (ทั้งต้น)
  50. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง ผดผื่นคันตามร่างกาย ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 2 กำมือ นำมาเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่มีอาการ (ใบสด)
  51. ช่วยรักษาบาดแผล ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 2 กำมือ นำมาเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว แล้วนำมาทาแผล (ใบ)
  52. ช่วยแก้อาการเหน็บชา ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30-60 กรัมและเต้าหู้ประมาณ 60-120 กรัม แล้วเติมน้ำพอประมาณ ใช้ตุ๋นรับประทาน (ต้นสด, ทั้งต้น)
  53. ช่วยแก้อาการปวดบวม (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  54. ช่วยคลายเส้น ด้วยการใช้รากนำมาต้มเป็นน้ำดื่ม (ราก)
  55. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยแก้อาการปวดหลังปวดเอวได้ หรือจะใช้รากต้มร่วมกับลุบลิบก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ใบต้มกับน้ำดื่มร่วมกับเหงือกปลาหมอก็ได้เช่นกัน (ราก, ใบ)
  56. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายกาย ด้วยการใช้รากต้มเป็นน้ำดื่ม หรือใช้ดองเหล้าดื่มผสมเข้ากับสมุนไพรกำลังเสือโคร่ง ม้ากระทืบโรงก็ได้เช่นกัน (ราก)
  57. รากใช้เป็นส่วนประกอบในยาสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ที่มีสรรพคุณช่วยเพิ่มเม็ดเลือดแดงสำหรับผู้ป่วยเอดส์ โดยประกอบด้วย โด่ไม่รู้ล้ม ม้ากระทืบโรง หงอนไก่อู และหงอนไก่แจ้ นำมาต้มเป็นน้ำดื่ม แต่ถ้าเป็นคนปกติดื่มแล้วจะช่วยบำรุงกำลัง (ราก)